ติดตาม TIGERSOFT ผ่านช่องทางต่างๆ
สิทธิประกันสังคม
พ.ค. 13, 2021

สิทธิประกันสังคม กับประโยชน์ที่ผู้ประกันตนทุกมาตราได้รับ

ว่าด้วยเรื่องของประกันสังคม

เคยสงสัยกันหรือไม่…?? กับคำว่าสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตน เงินสมทบ กองทุนเงินทดแทน หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ประกันสังคม” แท้จริงแล้วคืออะไรอย่างไร เราเป็นผู้ประกันตนมาตราไหน และได้รับสิทธิอะไรบ้าง ไทเกอร์ซอฟท์ได้รวบรวมมาให้แล้ว

 

คำศัพท์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประกันสังคม

ประกันสังคม

ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตของสมาชิกที่มีรายได้ และสวัสดิการของลูกจ้างที่ได้จากภาครัฐ โดยจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล รวมถึงการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง

ความจริงระบบประกันสังคมนั้นเกิดขึ้นมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยได้นำระบบนี้เข้ามาในปี พ..2480 และได้เริ่มมีสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้บริการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ..2533 สำหรับการคุ้มครองผู้ประกันตน ทั้งจากการเจ็บปวดจากการทำงานและนอกเหนือจากการทำงาน ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องกับประกันสังคมจะประกอบไปด้วย

    • ผู้ประกันตน
    • นายจ้าง
    • รัฐบาล

 

สิทธิประกันสังคม

สิทธิประกันสังคม เป็นกองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ที่เป็นผู้ประกันตนอยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน รวมถึงกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

 

ผู้ประกันตน

ผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป แต่ถ้าลูกจ้างอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แต่นายจ้างยังจ้างให้ทำงานต่อให้ถือเป็นผู้ประกันตนต่อไป ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

    1. ลูกจ้างหรือพนักงานประจำที่มีอายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
    2. กลุ่มที่เคยทำงานประจำแต่ลาออกจากงานแล้ว เป็นผู้ประกันตนที่เคยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อลาออกแล้วยังสมัครใจที่จะจ่ายเงินสมทบอยู่ โดยจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
    3. กลุ่มที่ไม่ได้ทำงานประจำหรือบุคคลที่ทำอาชีพอิสระ อายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี แต่ต้องไม่เคยไม่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 มาก่อน

 

นายจ้าง

นายจ้าง คือ ผู้มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องทำหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน และเมื่อมีการจ้างลูกจ้างใหม่ จะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วันเช่นกัน

 

เงินสมทบ

เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องนำส่งกองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากรายได้ของลูกจ้าง อัตราร้อยละ 5 มีฐานค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (เงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 83 บาท และไม่เกินเดือนละ 750 บาท) นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังร่วมจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 2.75 อีกด้วย

 

กองทุนเงินทดแทน

กองทุนเงินทดแทน คือกองทุนที่จ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย จากการทำงานให้แก่นายจ้าง โดยไม่ได้คำนึงถึงวัน เวลา และสถานที่ แต่จะดูเฉพาะสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

    • การประสบอันตรายจากการทำงาน : คือการที่ลูกจ้างได้รับอันตรายทางกายหรือจิตใจ จนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือทำตามคำสั่งของนายจ้าง
    • การเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน : คือสาเหตุของการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน โดยมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรค
    • สูญหาย : คือการที่ลูกจ้างหายไประหว่างการทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ หรือหายไประหว่างเดินทางโดยพาหนะ ทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ ตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งเป็นเหตุอันควรที่เชื่อว่าลูกจ้างได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ความตาย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ

 


นอกจากกองทุนเงินทดแทนแล้ว ยังก็ยังมีอีกคำศัพท์หนึ่งคือ “กองทุนประกันสังคม” ที่อาจจะทำให้ใครหลายคนสับสน

หากอยากรู้ว่าทั้งสองกองทุนนั้นแตกต่างกันอย่างไร ไทเกอร์ซอฟท์มีคำตอบที่นี่


 

คุณเป็นผู้ประกันตนประเภทไหน ? 

กองทุนประกันสังคม มีผู้ประกันตนทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้

ผู้ประกันมาตรา 33

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือพนักงานเอกชนทั่วไป มีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี โดยจำต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนคือ ลูกจ้าง 5% ของฐานค่าจ้าง ขั้นต่ำ 1,650 บาท และขั้นสูง 15,000 บาท

สิสิทธิประโยชน์ : ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี

    1. กรณีเจ็บป่วย
    2. กรณีคลอดบุตร
    3. กรณีทุพพลภาพ
    4. กรณีตาย
    5. กรณีสงเคราะห์บุตร
    6. กรณีชราภาพ
    7. กรณีว่างงาน

 

ผู้ประกันมาตรา 39

ผู้ประกันมาตรา 39 คือผู้ประกันตนที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อน แต่ลาออกแล้วและยังต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมเอาไว้ จึงยื่นสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน ซึ่งการสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้จะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งยังต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ นอกจากนี้ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาท/เดือน และทางด้านรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาท/เดือน

สิทธิประโยชน์ : ผู้ประกันมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี

    1. กรณีเจ็บป่วย
    2. กรณีคลอดบุตร
    3. กรณีทุพพลภาพ
    4. กรณีตาย
    5. กรณีสงเคราะห์บุตร
    6. กรณีชราภาพ ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

 

ผู้ประกันมาตรา 40

ผู้ประกันมาตรา 40 คือผู้ประกันตนที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทตามมาตรา 33 และไม่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 แต่สมัครใจจะเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 40 เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี และต้องไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม หากเป็นผู้พิการจะต้องเป็นผู้ที่สามารถรับรู้ถึงสิทธิของประกันสังคม ซึ่งผู้สมัครสามารถเลือกสิทธิประโยชน์โดยมีให้เลือก 2 ทางเลือก

ทางเลือกที่ 1 : จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน (จ่ายเอง 70 บาท รัฐสนับสนุน 30 บาท) สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี

      1. กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย
      2. กรณีทุพพลภาพ
      3. กรณีตาย

ทางเลือกที่ 2 : จ่ายเงินสมทบ 150 บาท/เดือน (จ่ายเอง 100 บาท รัฐสนับสนุน 50 บาท) สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี

      1. กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย
      2. กรณีทุพพลภาพ
      3. กรณีตาย
      4. กรณีชราภาพ (บำเหน็จ)

 

สิทธิประกันสังคมต่างที่จะได้รับ

สำหรับสิทธิประกันสังคมจะมีอยู่ 7 สิทธิประโยชน์กับเงื่อนไขของแต่กรณี แต่จะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกัน

กรณีเจ็บป่วย

กรณีที่เจ็บป่วยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถสรุปการเจ็บป่วยได้ 3 กรณี ดังนี้

    1. เจ็บป่วยทั่วไป : ให้ผู้ประกันตนไปโรงพยายามตามสิทธิของตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้น 14 โรคที่ประกันสังคมไม่ครอบคลุม
    2. เจ็บป่วยฉุกเฉิน : ให้ไปโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ หรือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่ให้ผู้ประกันตนทำการสำรองจ่ายไปก่อน จากนั้นให้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ มาทำเรื่องเบิกตามอัตราที่กำหนด
    3. อุบัติเหตุ : ให้ไปโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ หรือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

กรณีที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ

ไม่ว่าจะเป็นรักษาทั้งอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ยกเว้น ค่าห้องและค่าอาหาร ที่เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท

การเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของเอกชน

    • กรณีผู้ป่วยนอกเบิกค่ารักษาได้ไม่เกิน 1,000 บาท
    • กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท ค่าห้องกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท
    • กรณีต้องผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 – 16,000 บาท ตามระยะเวลาการผ่าตัด

กรณีทันตกรรม

ให้เข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม (ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้จาก สำนักงานประกันสังคม ) สามารถรับค่าบริการทางการแพทย์ได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 900 บาทต่อปี

เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : ต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน

 

กรณีคลอดบุตร

    • สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
    • ผู้ประกันตนหญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น)
    • กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ สามารถเลือกใช้สิทธิได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่

เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร

 

กรณีทุพพลภาพ

    • รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนตลอดชีวิต ในกรณีทุพพลภาพร้ายแรง หากไม่ร้ายแรงจะได้รับตามหลักเกณฑ์ และระยะเวลาตามที่ประกาศฯกำหนด รับค่าบริการทางการแพทย์ หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เท่าที่จ่ายจริงตามจำเป็นและสมควร หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท ในกรณีเป็นผู้ป่วยใน กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เดือนละไม่เกิน 4,000 บาท ในส่วนของค่ารถและค่าบริการทางการแพท์ย์ จะได้รับการเหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท
    • ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเมื่อมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ
    • หากผู้ทุพพลภาพเสียชีวิต ผู้จัดการศพมีสิทธิได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท
    • ได้รับเงินสงเคราะห์เสียชีวิต หากผู้ทุพพลภาพจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปีจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน แต่หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน

เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน

 

กรณีเสียชีวิต

    • ผู้จัดการศพสามารถขอค่าทำศพได้ 40,000 บาท
    • เงินสงเคราะห์ กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้แก่บุคคลที่มีชื่อระบุอยู่ในหนังสือ ที่ระบุให้เป็นผู้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต หากไม่มีหนังสือระบุไว้จะต้องนำมาเฉลี่ยให้แก่บิดามารดา หรือ สามีหรือภรรยา หรือบุตร ในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งจะได้เงินสงเคราะห์ดังนี้ หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ไม่ 120 เดือน ขึ้นไป จะได้เงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน
    • บุคคลที่เป็นทายาทสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี (ดูรายละเอียดที่กรณีชราภาพ)

เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : สาเหตุการเสียชีวิตจะต้องไม่เกิดจากการทำงาน และจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือนขึ้นไป

 

กรณีชราภาพ

กรณีชราภาพ สามารถแยกเป็น 2 กรณีดังนี้

กรณีบำนาญชราภาพ มีสิทธิประโยชน์ดังนี้

      • หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
      • หากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ทุก ๆ 12 เดือน ที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น

กรณีบำเหน็จชราภาพ มีสิทธิประโยชน์ดังนี้

      • หากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
      • หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
      • หากเป็นกรณีที่ผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่จำเป็นต้องจ่าย 180 เดือน ติดต่อกัน) และต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ รวมถึงจะต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

 


เงินบำเหน็จ-บำนาญนั้นช่วยสร้างความมั่นคงในช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุ แต่ก็จะมีเงื่อนไขในการรับแตกต่างกันไป

หากอยากทรายถึงรายอะเอียดอื่น ๆ ของทั้งสอง ไทเกอร์ซอฟท์ก็มีข้อมูลเพิ่มเติมให้ดูที่นี่


กรณีสงเคราะห์บุตร

    • จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรแบบเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาท ตั้งแต่บุตรอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์
    • สามารถขอใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 3 คน

เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน แต่จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น

 

กรณีว่างงาน

    • กรณีที่ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดจะไม่เกิน 15,000 บาท
    • กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ยซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
    • กรณีที่ว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน
    • กรณีที่ว่างงานเพราะลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างมากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 ปี จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน

เงื่อนไขการใช้สิทธิ์

    • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือกรณีผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
    • มีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
    • สามารถขอเงินชดเชยประกันสังคมได้หากถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
    • รายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์กรมการจัดหางานของรัฐ ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
    • เป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่รัฐจัดหาให้ โดยไม่ปฏิเสธที่จะฝึกงาน
    • ต้องไม่ถูกเลิกจ้างในกรณี ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย รวมถึงการทำผิดกฎหมายกรณีร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร หรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา และไม่ใช่ผู้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

อ่านบทความอื่น ๆ จากไทเกอร์ซอฟท์ คลิกที่นี่

เหตุผลที่บริษัทต้องมีการประเมินผลพนักงาน และใช้โปรแกรม hr เข้ามาเป็นตัวช่วยในการประเมิน

เหตุผลที่บริษัทต้องมีการประเมินผลพนักงาน และใช้โปรแกรม hr เข้ามาเป็นตัวช่วยในการประเมิน โปรแกรม hr เข้ามาช่วยในการประเมินผลพนักงานได้อย่างไรบ้าง การประเมินผลงานการทำงานของพนักงานในช่วงกลางปีและ/หรือช่วงปลายปีโดยหัวหน้างานนั้น เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทจะต้ […]

5 มิ.ย. 2023

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 4 ลูกจ้างสามารถปฏิเสธ​การติดต่อ​นายจ้างได้

วันที่ 29 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน แก้ไข​เพิ่มเติม​ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ใจความเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพมาก […]

22 มี.ค. 2023

ทำความรู้จักโปรแกรม HR ที่ดีที่สุดจากไทเกอร์ซอฟท์!

ทำความรู้จักโปรแกรม HR ที่ดีที่สุดจากไทเกอร์ซอฟท์! TigerSoft ผู้พัฒนา HR Solution โปรแกรม HR ที่ดีที่สุด ครอบคลุมทุกความต้องการ ตอบโจทย์ทุกองค์กรธุรกิจ โปรแกรม HR มีความสำคัญต่อทุกองค์กรบริษัทไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานข […]

26 ก.ย. 2023