ว่าด้วยเรื่องการยื่นภาษี ปี 64
วนกลับมาอีกปีกับหน้าที่ที่หลายคนต้องทำ นั่นก็คือ “การคำนวณภาษี” และ “การยื่นภาษี” ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่กรมสรรพากรได้กำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการปีละ 1 ครั้ง ในช่วงปี 2565 สำหรับปีภาษี 2564 ซึ่งในปีนี้จะมีความแต่งต่างจากปีก่อนหน้า เนื่องด้วยประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กลับมาระบาดอีกระลอก ทางภาครัฐจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือ
โดยมี 3 เรื่องสำคัญที่ควรรู้และทำความเข้าใจก่อนเพื่อจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2564 ดังนี้
ลดการส่งเงินสมทบประกันสังคม ผ่านการลดหย่อนภาษี
โดยปกติของผู้ที่มีการจ่ายเงินสมทบเข้าไปในประกันสังคมทุกเดือน จะสามารถนำเงินสมทบที่เข้าประกันสังคมในตลอดทั้งปี ตามอัตราที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท ไปใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีได้
แต่ในปีนี้ด้านประกันสังคมมีนโยบายปรับลดอัตราส่งเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมทุกมาตรา ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 33 ,มาตรา 39 และมาตรา 40 ทั้งผู้เสียภาษียังสามารถนำเงินส่วนนี้ไปลดหย่อนภาษีได้น้อยลงอีกด้วย ซึ่งสามารถสรุปเกี่ยวกับการยื่นลดหย่อนภาษีของผู้ประกันตนได้ดังนี้
ผู้ประกันตนมาตรา 33
ผู้ประกันตน ม.33 สามารถยื่นลดหย่อนภาษีในส่วนของประกันสังคมได้สูงสุดจำนวน 5,100 บาทในปีภาษี 2564 (จากเดิมสูงสุดที่ 9,000 บาท) เนื่องด้วยในครั้งนี้ด้านประกันสังคมมีนโยบายลดการเก็บเงินสมทบลดลงในช่วงที่ COVID-19 กลับมาระบาดอีกระลอก จากจำนวนสูงสุด 750 บาท ดังนี้
- เดือนมกราคม หัก 3% สูงสุด 450 บาท
- เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 0.5% สูงสุด 75 บาท
- เดือนเมษายน – พฤษภาคม 5% สูงสุด 750 บาท
- เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน หัก 2.5% สูงสุด 375 บาท
- เดือนธันวาคม ไม่ได้มีการแจ้งลดการหักเงินสมทบ จึงกลับมาเก็บเงินสมทบตามจำนวนเดิมที่อัตรา 750 บาท
ผู้ประกันตนมาตรา 39
สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนประกันสังคมในปีภาษี 2564 สูงสุดไม่เกิน 3,483 บาท เนื่องจากการส่งเงินสมทบในปีนี้มีการลดจากเดิม 432 บาท ดังนี้
- เดือนมกราคม – มีนาคม ลดสมทบเหลือ 278 บาท
- เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ลดสมทบเหลือ 38 บาท
- เดือนเมษายน – พฤษภาคม หักสมทบ 432 บาทตามเดิม
- เดือนมิถุนายน – สิงหาคม ลดสมทบเหลือ 216 บาท
- เดือนกันยายน – พฤศจิกายน ลดสมทบเหลือ 235 บาท
- เดือนธันวาคม ไม่ได้มีการแจ้งลดการหักเงินสมทบ จึงคิดการหักสมทบ 432 บาทตามเดิม
ผู้ประกันตนมาตรา 40
สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนประกันสังคมในปีภาษี 2564 สูงสุดไม่เกิน 700, 1,000 และ 3,000 บาท ตามการสมทบทางเลือกที่ 1 ทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 ตามลำดับ
- เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 จ่ายตามปกติ ทางเลือกที่ 1 = 70 บาท ทางเลือกที่ 2 = 100 บาท และทางเลือกที่ 3 = 300 บาท
- เดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2564 ลดเงินสมทบประกันสังคมลง ทางเลือกที่ 1 = 42 บาท ทางเลือกที่ 2 = 60 บาท และทางเลือกที่ 3 = 180 บาท
สรุปได้ว่าการลดส่งเงินสมทบประกันสังคม ผู้ที่มีเงินได้ที่มีรายได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564 จะมีตัวช่วยลดหย่อนภาษีได้น้อยลง แต่อาจมองหาสิ่งอื่นที่สามารถนำมาช่วยลดภาษีเพิ่มขึ้นในปีนี้
หักภาษี ณ ที่จ่ายลดลง
มาตรการพิเศษที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ โดยลดอัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย ในปี 2564 จากเดิม 3% ลดลงเหลือ 1.5 – 2% ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และเป็นไปตามประเภทของเงินได้ที่ได้รับในแต่ละบุคคล
ด้านกระทรวงการคลังมีการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากวันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 ลดหักภาษี ณ ที่จ่ายจาก 3% เป็น 2% สำหรับการจ่ายผ่านระบบ E-Withholding Tax เท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
เงินได้ตามมาตรา 40(6) หักภาษี ณ ที่จ่าย 2%
เงินได้ประเภทที่ 6 เป็นรูปของค่าตอบแทนจากการประกอบวิชาชีพอิสระ ที่มีจำนวนไม่แน่นอนและจะขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย ซึ่งมี 6 อาชีพได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์
เงินได้ตามมาตรา 40(7) หักภาษี ณ ที่จ่าย 2%
เงินได้ประเภทที่ 7 เป็นค่ารับเหมาที่มีการเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ โดยที่คุณเป็นผู้จัดหา ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน เครื่องมือ และสัมภาระเอง เช่น การรับเหมาก่อสร้าง, รับผลิตสินค้าตามแบบที่ลูกค้าต้องการโดยที่ปกติคุณไม่ได้ทำขาย เช่น ผลิตตามต้นแบบของลูกค้า เป็นต้น
เงินได้ตามมาตรา 40(8) ในส่วนจ้างทำของ รางวัล ส่วนลด ส่งเสริมการขาย หักภาษี ณ ที่จ่าย 2%
เงินได้ประเภทที่ 8 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่สามารถจัดให้เข้ากลุ่มเงินได้ประเภทที่ 1 – 7 ได้ ตัวอย่างเช่น การขายของออนไลน์ การเปิดร้านอาหาร กำไรจากการขายกองทุน LTF/RMF เงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนและคณะบุคคล เป็นต้น
ทั้งนี้ การหักภาษี ณ ที่จ่ายก็คือการหักภาษีล่วงหน้าบางส่วน ทั้งตอนที่มีการจ่ายและรับเงิน..
- กรณีที่ผู้มีรายได้ มีการยื่นภาษีแล้วแต่เงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี หรือมีการพบว่าถูกหักภาษีไว้มากกว่าจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายจริง สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินภาษีคืนจากที่เคยถูกหักไปก่อนหน้านี้ได้
- กรณีที่ผู้มีรายได้ ยื่นภาษีต่ำไปจะต้องมีการจ่ายภาษีเพิ่ม หากเงินภาษีเท่ากับหรือมากกว่า 3,000 บาท สามารถดำเนินการได้ ดังต่อไปนี้
ชำระภาษีโดยการขอผ่อนชำระตามมาตรา 64 แห่งประมวลรัษฎากร
- หากภาษีที่ต้องเสียมีจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ผู้ต้องเสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระเป็น 3 งวด งวดละเท่าๆ กัน โดยใช้แบบ บ.ช. 35
- งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป
- งวดที่ 2 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1 (เมษายน)
- งวดที่ 3 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2 (พฤษภาคม)
โดยผลจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายลดลง จะช่วยให้ประชาชนถูกหักภาษีน้อยลง ณ เวลาที่ได้รับเงิน มีสภาพคล่องมากขึ้น แต่ในช่วงที่กำลังมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี อัตราการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ลดลงจนทำให้ตัวเลขที่จะนำมาช่วยลดหย่อนนั้นต่ำลงไปด้วย ส่วนผู้ที่ยังมีรายได้สุทธิอยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี จึงควรวางแผนภาษีใหม่ หรือมองหาตัวช่วยอื่นๆ เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีในส่วนนี้แทน
ได้รับ เงินเยียวยา จากมาตรการของรัฐ เสียภาษีเงินได้อย่างไร
ในช่วงปี 2564 ทางรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาและการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา เพื่อให้ประชาชนในหลายโครงการ โดยผู้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ได้รับสิทธิใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง, เราชนะ และเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งไม่ต้องนำเงินจำนวนนี้มายื่น และไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด
เนื่องจากตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ยกเว้นภาษีเงินได้โครงการรคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันไว้อยู่แล้ว ส่วนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน หากเป็นนิติบุคคลหรือร้านค้าที่มีเงินได้ถึงฐานจะต้องเสียภาษีตามปกติ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับบุคคลทั่วไป
ขอบคุณข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ, คมชัดลึก
อ่านบทความอื่นๆของไทเกอร์ซอฟท์ คลิกที่นี่