พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ 2565
บังคับใช้แล้ววันนี้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ โดยนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป็นการปรับปรุงข้อกฎหมายให้เท่าทันการค้ายุคดิจิทัล และยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ ตลอดจนสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล โดยเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น Facebook และ YouTube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้ทันทีเมื่อได้รับการแจ้งจากเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล รวมทั้งกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ให้บริการ ผู้ผลิต และผู้ขายอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อละเมิดลิขสิทธิ์
คุ้มครองอะไรบ้าง
สาระสำคัญของการปรับปรุง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ได้แก่ การกำหนดมาตรการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือเจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook และ YouTube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้ทันทีเมื่อได้รับการแจ้งจากเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล รวมทั้งกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ให้บริการ ผู้ผลิต และผู้ขายอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อละเมิดลิขสิทธิ์
กฎหมายฉบับนี้ยังได้ขยายอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์งานภาพถ่ายไปตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์ และคุ้มครองต่อเนื่องไปอีก 50 ปี หลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต เพื่อให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ชาวไทยรวมถึงทายาทได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว
การคุ้มครองนี้สอดคล้องกับหลักสากลและรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ซึ่งประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าวแล้ว โดยจะมีผลให้ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกลำดับที่ 113 ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.2565 เป็นต้นไป
หลังจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเดินหน้าเตรียมความพร้อมสำหรับการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต่อไป
ประโยชน์จากกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า การแก้กฎหมายดังกล่าวช่วยยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะบนสื่อออนไลน์ที่สามารถระงับการเผยแพร่ผลงานละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างท่วงที
ทั้งนี้ หากศิลปินผู้สร้างสรรค์หรือประชาชนทั่วไปมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับใหม่ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 02-5475191 หรือติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.ipthailand.go.th/th/ หรือโทรสายด่วน 1368
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมทรัพย์สินทางปัญญา
กรุงเทพธุรกิจ