ความเครียดกับวัยทำงาน
เครียด!! คำที่ยอดนิยมที่วัยทำงานในปัจจุบันต้องเผชิญทุกวัน ความเครียดทก่อเกิดกับคนทำงานตั้งแต่เช้าด้วยการเร่งรีบในการเดินทาง ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นเพื่อให้ทันเวลาเข้างาน หรือทันรถสาธารณะเพื่อให้ได้กลับบ้านได้ทันเวลา ในออฟฟิศก็เจอสถานการณ์ที่รีบเร่งทำงานให้เสร็จตามกำหนด จึงทำให้ไม่ค่อยมีเวลาในการเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการความเครียดสะสมอยู่ตลอดเวลา ด้วยสภาพแวดล้อมในที่ทำงานและรูปแบบการใช้ชีวิต จึงทำให้สุขภาพของคนทำงานในปัจจุบันนั้นไม่ดีเท่าที่ควร และเกิดโรคยอดนิยมของคนวัยทำงานมากมายได้แก่
ออฟฟิศซินโดรม
ร้อยละ 60 ของคนวัยทำงานต่างเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากด้วยวิถีการทำงานที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง ขยับเขยื้อนตัวน้อย จนทำให้ร่างกายเกิดความเครียด เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวและมีอาการปวดตึงที่คอ บ่า ไหล่ หลัง ไปจนถึงขา เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานจนมีอาการรุนแรงมากขึ้น จะทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือกดทับเส้นประสาทได้
โรคอ้วน
ความเครียดเข้ามาตลอดเวลา เมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะใช้พลังงานมากขึ้น ฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดจะสั่งให้ร่างกายเกิดความหิวได้ง่ายขึ้น และคุณจึงเลือกที่จะทานขนมที่มีน้ำตาลมากเป็นตัวเลือกแรกๆ นั่นเป็นเพราะร่างกายต้องการอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต อาหารที่ให้พลังงานสูง และน้ำตาลสูง จึงทำให้อ้วนขึ้นและยิ่งร่างกายขยับเขยื้อนน้อย ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ก็ยิ่งอ้วนง่ายขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายต่างๆ ตามมา
ความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง ผลสือเนื่องจากการเป็นโรคอ้วน หลอดเลือดแดงมักตีบหรือตันด้วยไขมันที่เกาะในเส้นเลือด เนื่องจากการทานของมันของทอดเป็นตัวการหลักที่จะทำให้ไขมันเพิ่มมากขึ้นจนเกาะตามผนังหลอดเลือด ประกอบกับความเครียดที่ทำให้หลอดเลือดของคนวัยทำงานหดเกร็งจนตีบ หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลยสูงขึ้นตามมา ซึ่งสถานการณ์โรคความดันโลหิตทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นทุกปีและคาดว่าในปี 2568 ความชุกของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคนถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเลยทีเดียว
ไมเกรน
อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่คนวัยทำงานไม่มากก็น้อยเข้าใจกันเป็นอย่างดี ด้วยอาการปวดหัวข้างเดียวหรือสองข้าง บางคนอาจมีอาการนำก่อนมีอาการปวดเช่น ปวดกระบอกตา เห็นแสงสว่างจ้าหรืออ่อนแรง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย การสูบบุหรี่ หรือสาเหตุหลักที่มาจาก “ความเครียด” เมื่อเกิดความเครียดสมองจะหลั่งสารเคมีตัวหนึ่งชื่อ เซโรโทนินส่งผลให้หลอดเลือดขยายและโป่งตัวออก จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวนั่นเอง
โรคกระเพาะอาหาร
การเร่งรีบในการทำงานอาจทำให้หลายคนทานข้าวไม่เป็นเวลาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการทานข้าวไม่เป็นเวลาจะส่งผลให้ร่างกายเครียด ยิ่งทำงานหนักไม่มีเวลาก็จะยิ่งเครียดมากขึ้นไปอีก อาการแรกเริ่มจะสังเกตได้ว่าเรอบ่อย ปวดแสบช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือเสียดทรวงอกหลังทานอาหารเสร็จ ที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายหลั่งน้ำย่อยออกมามากผิดปกติจนกัดกระเพาะอาหาร ถ้าเป็นบ่อยครั้งอาจทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งอาจพบการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำคือสัญญาณความรุนแรงของโรคดังกล่าว
โรคซึมเศร้า
ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับโรคซึมเศร้ามากขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกมีคนเป็นโรคซึมเศร้าถึง 300 ล้านคนคิดเป็นเกือบ 4% ของทั้งโลกเลยทีเดียว ส่วนในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้มากถึง 1.5 ล้านคน คิดเป็น 2.2 % ของคนไทยทั้งหมด และมีการฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4,000 คนต่อปี “ในปัจจุบันพบคนวัยทำงานทั่วโลก อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปเสี่ยงเป็นโรคนี้ เนื่องจากสาเหตุของการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) เกิดความวิตกกังวล ความเครียด ทำให้จิตใจหดหู่ นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้” นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
แนวทางจัดการความเครียด
เริ่มต้นวันนี้ยังไม่สายกลับมาดูแลตัวเอง แบบ 3 อ. อาหาร ออกกำลัง และอารมณ์
อ. อาหาร กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ และครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้เพื่อกระตุ้นการขับถ่ายและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง โดยสามารถดูไอเดียเมนูสร้างสรรค์เพื่อกินผักผลไม้ให้มากขึ้นได้ที่ https://www.nestle.co.th/th/nhw และควรดื่มน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือประมาณ 1.5 ลิตร เพื่อคืนความสดชื่น ให้สมองตื่นตัว ช่วยรักษาสมดุลแร่ธาตุในร่างกาย วัยทำงานเป็นวัยที่ชีวิตประจำวันเร่งรีบ การมองหา สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ บนฉลากของผลิตภัณฑ์ ถือเป็นทางเลือกที่ประหยัดเวลาและสะดวกต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีโภชนาการที่ดีกว่า คือมีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
อ. ออกกำลังกาย พักคลายกล้ามเนื้อ ยืดเหยียด คอ หลัง ไหล่ มือ หรือลุกขึ้นขยับตัวทุก ๆ 1 ชั่วโมง และเพิ่มการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น เพิ่มอัตราการเผาผลาญแคลอรีที่ได้รับ ช่วยควบคุมน้ำหนักให้คงที่
อ. อารมณ์ ทำอารมณ์ให้สดใส ยิ้มแย้มพร้อมตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในแต่ละวัน ควรจัดสรรเวลาเบรกงาน เพื่อพักสมอง โดยอาจฟังเพลงเบา ๆ หรือทำกิจกรรมที่ชอบ ช่วยให้อารมณ์แจ่มใส ไม่เกิดภาวะเครียดสะสม การนอนพักผ่อนให้เพียงพอก็ช่วยทำให้สมองปลอดโปร่งและอารมณ์ดีได้
ความเครียดส่งผลให้จิตใจและร่างกายของเรานั้นเป็นอย่างมาก เราเข้าใจว่าการไม่ให้เครียดในยุคปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่เพื่อสุขภาพการใช้หลัก 3 อ. อาจจะทำให้ทุกท่านนั้นได้สุขภาพกายและจิตใจที่ดีกลับคืนมาเพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรักนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.megawecare.co.th
www.chularat3.com
www.bangpakokhospital.com
www.mgronline.com
www.bangkokbiznews.com