กยศ. เอาจริง! เตรียมหักหนี้ผู้กู้ที่เป็นลูกจ้างเอกชนผ่านบัญชีเงินเดือน
กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เดินหน้ามาตรการหักเงินเดือนลูกจ้างบริษัทเอกชนและข้าราชการในปี 2564 จำนวน 1.8 ล้านราย โดยเป็นบริษัทธุรกิจเอกชนและหน่วยงานรายการรวมแล้วกว่า 1 แสนแห่ง ผ่านทางบัญชีที่รับเงินเดือนทุกราย
โดยการหักหนี้ กยศ. จากบัญชีเงินเดือน เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ธุรกิจที่มีพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ของ กยศ. จะต้องทำ
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมาสามารถหักเงินคืนจากบัญชีเงินเดือนได้ทั้งสิ้น 4 แสนราย ส่วนในปี 2563 มีเป้าหมายในการหักเงินคืนจากบัญชีเงินเดือนเพิ่มอีก 4 แสนราย ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นไปตามที่ได้คาดหมายเอาไว้อย่างแน่นอน
เพราะจะมีหนังสือแจ้งไปยังนายจ้างให้ทำการหักเงินในบัญชีของลูกจ้าง หากนายจ้างไม่ยินยอมให้หักเงินในบัญชีจะต้องผิดชอบตามกฎหมาย นั่นก็คือการจ่ายเงินนำส่งแทนลูกจ้างหรือข้าราชการ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตรา 2% ต่อปี
…“อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน กยศ.ให้เด็กนักเรียนกู้ปีละ 6 แสนราย โดคคิดเป็นวงเงินให้กู้ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท โดยปี 2562 ที่ผ่านมา ได้รับการชำระคืนหนี้มาแล้ว 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเงินที่ให้กู้ของแต่ละปีราว ๆ 5 พันล้านบาท ส่วนประเด็นของความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 คาดการณ์ว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะใช้งบกองทุน กยศ. โดยไม่พึ่งพาเงินจากงบประมาณ ทั้งยังมีกำไรจากการปล่อยกู้”… นายชัยณรงค์ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าของการพักชำระหนี้ 1 ปี สำหรับผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีการผ่อนชำระดีประมาณ 4 แสนราย จากจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการจำนวน 7.8 แสนราย ที่ได้รับสิทธิ์การพักชำระหนี้ในปี 2563 และกลับมาชำระหนี้ในวันที่ 5 ก.ค. 2564
ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ถือบัตรคนจนที่มายื่นขอพักชำระหนี้จำนวนกว่า 3.28 แสนราย ทาง กยศ. กำลังตรวจสอบข้อมูลและคุณสมบัติอยู่ คาดว่าหลังเดือน ก.พ.2563 ถึงจะสรุปได้ว่าผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายใดจะได้รับสิทธิ์พักชำระหนี้เป็นจำนวนเท่าใด
นายชัยณรงค์ ยังกล่าวต่ออีก นอกจาก กยศ. จะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือกับทางวิชาการ และการดำเนินการร่วมกันกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยเตรียมการแลกเปลี่ยนข้อมูลนักเรียนและนักศึกษา เพื่อทำให้การดำเนินเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังต้องการให้ผู้ขาดแคลนทางทุนทรัพย์ได้รับโอกาสทางการศึกษาได้มากที่สุดอีกด้วย
ทั้งนี้ ด้านนายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) เผยว่า กสศ. จะมุ่งเน้นช่วยเหลือเด็กที่ยากจน ในระดับประถมศึกษาจนไปถึงการศึกษาภาคบังคับ ช่วงอายุไม่เกิน 15 ปี โดยมีเด็กที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลประมาณ 9 แสนราย โดยใช้งบประมาณในการดูแลราว ๆ 5 พันล้านบาท ขณะที่ กยศ. จะเน้นช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ อายุตั้งแต่ 15 – 25 ปี ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่ามัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี จำนวนปีละประมาณ 4.76 แสนราย
ขอบคุณข้อมูลจาก : กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), มติชน, ฐานเศรษฐกิจ
อ่านบทความอื่น ๆ จากไทเกอร์ซอฟท์ คลิกที่นี่