สงสัยกันหรือไม่?? ว่า “กองทุนเงินทดแทน” กับ “กองทุนประกันสังคม” คืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เรามาไขคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
กองทุนประกันสังคมคืออะไร
ส่วนใหญ่แล้วคนทำงานทุกคนจะรู้จักและคุ้นเคยดี เพราะเป็นกองทุนที่ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายเงินสมทบ โดยกองทุนประกันสังคมจะมีการคุ้มครองผู้ประกันตน 7 กรณีด้วยกัน อันไม่เนื่องจากการทำงาน ดังนี้
- เจ็บป่วย
- คลอดบุตร
- ทุพพลภาพ
- เสียชีวิต
- สงเคราะห์บุตร
- ชราภาพ
- ว่างงาน
ตัวอย่าง : พนักงานบริษัทอาหารเป็นพิษและท้องเสียหนัก ก็สามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมในการรักษากับโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขของประกันสังคม
กองทุนเงินทดแทนคืออะไร
กองทุนที่นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเป็นรายปีให้กับสำนักงานประกันสังคม โดยนายจ้างของแต่ละบริษัทจะจ่ายเงินสมทบไม่เท่ากัน แต่จะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของธุรกิจ ซึ่งกองทุนเงินทดแทน จะใช้ในกรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต จากการทำงานให้นายจ้างเท่านั้น
ตัวอย่าง : พนักงานถูกเครื่องจักรทับขาขณะทำงานให้นายจ้างจนกระดูกร้าว กรณีนี้ทางกองทุนเงินทดแทนจะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล พร้อมด้วยค่าชดเชยให้แก่พนักงานรายนี้
หรือจะให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ กองทุนเงินทดแทนถือเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องจ่ายเงินสมทบ และให้ความคุ้มครองเฉพาะจากการทำงานของพนักงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่านายจ้างทุกรายจะต้องจ่ายจ่ายเงินสมทบให้กองทุนเงินทดแทน เพราะมีธุรกิจบางประเภทที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่
- ราชการส่วนกลาง, ราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่นเฉพาะข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ
- รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
- รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ สำหรับลูกจ้างซึ่งมิใช่เป็นการจ้างงานในประเทศ
- ลูกจ้างอื่น ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
**ข้อควรรู้ กรณีใดบ้างลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิจะไม่มีสิทธิ์รับเงินทดแทนจากนายจ้าง…??
- ลูกจ้างเสพของมึนเมา หรือสิ่งเสพติดอื่น ๆ จนไม่สามารถครองสติได้
- ลูกจ้างจงใจทำให้ตนเองประสบอุบัติเหตุ หรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนประสบอันตราย
สรุปก็คือ ข้อแตกต่างระหว่างกองทุนเงินทดแทนกับกองทุนประกันสังคม จะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักด้วยกันก็คือ ผู้ที่จ่ายเงินสมทบกับสิทธิประโยชน์ รวมถึงการได้รับความคุ้มครองนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, ไทยรัฐ
อ่านบทความอื่น ๆ จากไทเกอร์ซอฟท์ คลิกที่นี่